โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่กลอง

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่กลอง เป็นโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กับกรมชลประทาน ในการใช้ประโยชน์จากน้ำในเขื่อนของกรมชลประทานให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของรัฐบาลประกาศ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2546 ที่กำหนดให้มุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เพื่อลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2546 คณะรัฐมนตรีได้ประกาศนโยบายส่งเสริมให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กบริเวณท้ายเขื่อนของกรมชลประทาน เพื่อผลิตไฟฟ้าจากการปล่อยน้ำตามปกติของกรมชลประทานอยู่แล้ว โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบ โดยให้กระทรวงพลังงาน เป็นผู้สนับสนุนด้านเทคนิคการวางแผนและการพัฒนา ในการนี้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งได้รับมอบหมายจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพลังงานตามลำดับ ได้ร่วมกันพิจารณาดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดย กฟผ. แสดงเจตจำนง จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กท้ายเขื่อนชลประทาน 6 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกัน 78.7 เมกะวัตต์ กฟผ. ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนแม่กลองเป็นหนึ่งใน 6 โครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ด้วย

ลักษณะโครงการ

โครงการฯ ประกอบด้วยงานก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้าคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดกว้าง 24 เมตร ยาว 44.50 เมตร สูง 25 เมตร คลองส่งน้ำเข้าโรงไฟฟ้า ชนิดคลองรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ความยาว 650 เมตร ที่จะขุดขึ้นใหม่ด้านฝั่งขวาของอาคารระบายน้ำล้น ภายในโรงไฟฟ้าติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ขนาดกำลังผลิต 6.0 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งใช้ปริมาณน้ำในการปั่นไฟเฉลี่ยเครื่องละ 77.4 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่ความสูงของหัวน้ำ 9 เมตร รวมทั้งงานก่อสร้างสายส่งขนาด 22 กิโลโวลต์ ความยาว 2.7 กิโลเมตร เพื่อส่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่งผ่านให้แก่ระบบส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละประมาณ 74 ล้านหน่วย (ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง) ใช้งบประมาณลงทุนโครงการทั้งสิ้น 919 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างประมาณ 26 เดือน

ประโยชน์

  1. ลดการใช้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  2. ผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดได้เฉลี่ย 74 ล้านหน่วย/ปี
  3. ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงราคาแพงจากต่างประเทศ
  4. ส่งเสริมการศึกษาวิจัยด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
  5. ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในระบบผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ
  6. เกิดการจ้างงานท้องถิ่นในระหว่างการก่อสร้าง
  7. สร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของ อ.ท่าม่วง และเขตใกล้เคียง